10/8/54

โครงสร้างของเอนไซม์

เอนไซม์ส่วนใหญ่มีโครงสร้างเป็นโกลบูลาร์โปรตีน (globular protein) หรือโปรตีนก้อนกลม ประกอบด้วยกรดอะมิโนตั้งแต่ 100 300 หน่วย โครงสร้างสามมิติของเอนไซม์สามารถศึกษาได้โดยใช้เทคนิค X–ray crystallography และ NMR spectroscopy ในปัจจุบันศึกษาโครงสร้างของเอนไซม์และสารประกอบเชิงซ้อนของเอนไซม์กับสับสเตรต หรือตัวหน่วงปฏิกิริยาโดยเทคนิค X–ray crystallography ได้ก้าวหน้าไปมาก ทำให้ความเข้าใจเกี่ยวกับเอนไซม์มีมากขึ้น
โครงสร้างสามมิติของเอนไซม์ทั่วไปมีลักษณะเป็นโปรตีนก้อนกลม (globular protein) โดยสายของพอลิเพปไทด์จะพับกลับไปกลับมาจนมีรูปร่างกระชับใกล้เคียงกับทรงกลม โดยที่หมู่ไม่ชอบน้ำ ได้แก่ หมู่แอลคิลและอะโรมาติก จะฝังตัวอยู่ในทรงกลม หมู่ที่ชอบน้ำ เช่น หมู่ไฮดรอกซิล หมู่คาร์บอกซิล และหมู่อะมิโน จะกระจายตัวอยู่บนผิวนอกของทรงกลม ทำให้เอนไซมสามารถละลายน้ำได้ เอนไซม์จะมีบริเวณที่ทำหน้าที่จับยึดกับสับสเตรตเรียกว่า บริเวณรับ (binding site) ซึ่งขณะที่จับยึดเอนไซม์นั้นอาจเปลี่ยนแปลงรูปร่างไปให้เหมาะสมกับรูปร่างของสับสเตรต เมื่อเกิดการจับยึดแล้ว สับสเตรตก็จะเกิดปฏิกิริยาต่อไป อีกบริเวณหนึ่งของเอนไซม์เรียกว่า บริเวณเร่ง (catalytic site) ซึ่งอาจเป็นบริเวณเดียวกับหรืออยู่ใกล้กับบริเวณรับ (binding site)













อ้างอิง : http://www.promma.ac.th/main/chemistry/boonrawd_site/enzyme_structure.htm